วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาลยิ่งลักษณ์เตรียมรับมือ”สังคมผู้สูงอายุ”แล้วหรือยัง?

ความสวยนั้นมาเร็วก็จริงแต่ก็ไปเร็วครือๆกัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์เตรียมรับมือ”สังคมผู้สูงอายุ”แล้วหรือยัง?

(บทความที่น่าสนใจจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๔
เราคงเคยได้ยินคำว่า "Ageing Society หรือ สังคมผู้สูงวัย" จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกของผู้สูงวัย และแทบไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยเรากำลังเข้าสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติประชากรของประเทศเราในปี 2553 มีประชากรสูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) ถึง 11.5% คิดเป็นประมาณ 7 ล้านคน และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงจาก 1.05% ต่อปี เหลือเพียง 0.77% ต่อปี และอัตราการตายมีแนวโน้มลดลง จากข้อมูลพบว่า การเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยในประเทศไทย เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว จากข้อมูลพบว่าการเตรียมตัวรับมือกับการมีอายุยืนยาวของคนไทยยังมีน้อยมาก ดังนั้นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงวัยจึงมาจากลูกถึงร้อยละ 53 พูดง่ายๆ ก็คือ อยู่กับลูก หรือ ลูกส่งเงินเลี้ยงดู ในปี 2553 คนวัยทำงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน อีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือ 4 ต่อ 1 และต่อไปจะเหลือ 2 ต่อ 1

การมีอายุยืนยาวจะเป็นเรื่องดี หากเรามีการเตรียมตัวรับมือไว้อย่างรอบคอบ และ อยู่อย่างสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีกินมีใช้ตามควรแก่อัตภาพ มีสุขภาพจิตที่ดี ท่านนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช รองประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย บอกว่าคนไทยต้องเตรียมตัวไว้จะได้ไม่เป็นปัญหายามแก่ ถ้าไม่เตรียมตัวจะมีปัญหามากเมื่ออายุเข้าสู่วัยหลังเกษียณ ท่านนายแพทย์บรรลุฯ แนะนำให้เตรียมตัว ดังนี้

เตรียมสุขภาพ เรื่องนี้ไม่มีใครช่วยได้ทุกคนต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่เป็นประโยชน์ไขมันต่ำ ผักผลไม้ ทำจิตใจให้แจ่มใส และตรวจเช็คสุจภาพทุกปี

เตรียมหางานทำตามอัตภาพของตัวเอง ผู้สูงอายุถ้าไม่มีอะไรทำเลย อาจเป็นอัมพาตได้ เพราะฉะนั้น ควรหางานทำพอให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว สมองได้ใช้งานป้องกันอัลไซเมอร์

เตรียมหาเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่าของเราบางคนอาจจากไปแล้ว ก็ต้องแสวงหาเพื่อนใหม่ เพื่อป้องกันความเหงา เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะขี้เหงา

เตรียมเงิน ข้อนี้ขอเขียนเพิ่มจากคำแนะนำของท่าน เพราะท่านคงมีอิสรภาพทางการเงินเรียบร้อยแล้วจึงไม่ได้แนะนำให้เตรียมเรื่องนี้ การจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเป็นสุข เงินเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ต้องเตรียมให้เพียงพอกับการมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 15-20 ปี หรือบางรายอาจมากกว่านี้ ก็ต้องเริ่มเตรียมตั้งแต่อายุยังน้อย จะหวังไปเก็บยามอายุมากๆ อาจเก็บไม่ทัน หรือเก็บได้ไม่เพียงพอ

คงเป็นการบ้านของสังคมไทยที่ต้องช่วยกันคิด และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่สามารถปล่อยให้เป็นภาระขององค์กรองค์หนึ่งได้ โดยเฉพาะคนวัยทำงานคงต้องเตรียมตัววางแผนการดูแลตัวเองในยามสูงอายุให้ดี โจทย์สำคัญ คือ "ทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระสังคม ทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน และทำอย่างไรจะเป็นพลังสำคัญของสังคมมากกว่าเป็นภาระ" ถ้าเราช่วยกันหันมาให้ความสำคัญกับการเก็บออม และเอาใจใส่กับการดูแลสุขภาพ ระวังการกิน การพักผ่อน ดูแลจิตใจ ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ แค่นี้ก็ตอบโจทย์ได้แล้ว เริ่มต้นวันนี้ก็ยังไม่สาย