วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โลกใบนี้ยกให้เธอคนเดียว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ ม. ๑๑๒ ง่ายๆ


โลกใบนี้ยกให้เธอคนเดียว
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ ม. ๑๑๒ ง่ายๆ
เวทย์ เธียรธโนปจัย

มีการพูดถึงประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ กันมากมายหลายแง่มุม ส่วนใหญ่จริงๆอยากให้แก้ ม. ๑๑๒ ด้วยการตัดทิ้งทั้งมาตรา แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยอยู่ไม่น้อย ทำให้ต้องมานึกหาเหตุผลดูกับเขามั่ง แล้วก็ได้ความจริงอบ่างหนึ่งที่อยากเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ช่วยฟังประเด็นนี้บ้างเพราะยังไม่มีใครคิดถึงกันมาก่อนว่า กฎหมายนั้นเขามีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิด ไม่ใช่มีไว้ใช้จับกุมคุมขังคนหรือเอาคนเข้าคุก ดังนั้นที่ประชาชนทั้งไทยและเทศต้องถูก  ม.๑๑๒ พ่นพิษใส่อยู่ในเวลานี้ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่ง ไปแก้ไขเพิ่มโทษ ม ๑๑๒ ให้หนักขึ้นจากโทษจำคุก ๓ ปี ถึง ๕๐ ปี โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ พศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๑ ซึ่งไม่ทราบว่าคณะที่ว่ายังอยู่ในอำนาจหรือปิดวิกไปแล้ว รู้แต่ว่าคนที่เป็นหัวหน้าซึ่งก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กย.๒๕๔๙ ยังมีตัวตนอยู่เวลานี้ใครอยากพบก็พบได้เพราะเขานั่งอยู่ที่รัฐสภาเป็นประจำเมื่อสภาเปิด ประชาชนอาจจะหัวเราะหรือขำคลิ้งก็ได้ด้วยท่านบังหรือพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ได้กำลังทำหน้าที่เป็น ปธ.กมธ. ของรัฐสภาชุดไหนจำชื่อไม่ได้รู้แต่ว่าท่านกำลังทำหน้าที่สมานแผลหรือเรียกว่าอาสาปรองดอง ดูแล้วก็อดสงสารท่านไม่ได้ ที่ท่านต้องถูกโดดเดี่ยวในสิ่งที่ท่านได้ทำกับคนไทยและประเทศชาติอย่างสาหัสสากรรจ์จนยากที่ใครจะให้อภัยได้  เมื่อกงเกวียนกำเกวียนเกิดจากสิ่งที่ท่านก่อทำให้มีหนี้กรรมที่ต้องชำระต่อแผ่นดินหรือคนไทยอยู่จำนวนไม่น้อย

กลับไปต่อเรื่องที่ค้างไว้ข้างต้น เมื่อมีคนแก้ไข ม.๑๑๒ ด้วยการเพิ่มโทษอย่างร้ายแรงมากและรุนแรงหลายเท่าจึงมีคนพวกหนึ่งใช้ประโยชน์จาก ม. ๑๑๒ ในการกล่าวโทษฟ้องร้องคนอื่นที่คิดต่างจากตน โดยอ้างความจงรักภักดีและประนามคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี จึงมีการกล่าวหาผู้อื่นว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมากมาย  ม.๑๑๒ จึงกลับฟื้นคืนชีพ เพราะใครๆก็รู้ว่าคนไทยนั้นทุกคนมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อย่างแนบแน่นมาช้านาน ที่จะคิดไปในทางที่ไม่สมควรต่างๆนาๆแทบจะเป็นไปไม่ได้ คดีความที่เกิดจาก ม. ๑๑๒ จึงแทบไม่ปรากฎจะบอกว่าถูกคนเขาลืมเสียสิ้นก็ไม่ผิดและแทบไม่ต้องแตะหรือพูดถึงมาตรานี้กันเลย ตั้งแต่มีกฎหมายนี้ขึ้นมาหลายสิบปี  จึงไม่มีใครคิดที่จะต้องไปยกเลิก ม.๑๑๒ หากเปรียบกฎหมายนี้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งเมื่อไม่ได้ถูกใช้นานๆเข้าก็จะเสียไม่สามารถทำงานได้จะซ่อมหรือคงไว้ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด การจะแก้ไขปัญหา ม. ๑๑๒ ด้วยการยกเลิกหรือคงไว้ก็เช่นกัน ทำไมไม่เกาตรงที่มันคันแล้วจึงแก้ตรงนั้น

ประเด็นปัญหาที่น่าจะคิดกันมันจึงอยู่ที่ว่า เมื่อแก้ไขโทษ ม. ๑๑๒ ให้สูงขึ้นคดีความ ม. ๑๑๒ จึงน่าจะต้องลดลงไม่ใช่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วเพราะมีคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าตำรวจทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆอาศัย ม. ๑๑๒ กลั่นแกล้งคนอื่นที่ตนไม่ชอบหน้า หรือมีความคิดไม่ตรงกัน ถ้าจะควบคุมปริมาณไม่ให้คดี ม. ๑๑๒ เพิ่มขึ้นหรือให้น้อยลง ทำไมไม่พิจารณาทำหมัน ม. ๑๑๒ เสียเลย โดยห้ามบุคคลอื่นนอกจากสำนักราชเลขาธิการเท่านั้นที่จะเป็นคนกลั่นกรองฟ้องคดี ม. ๑๑๒ ได้เพียงผู้เดียว ใครก็ตามไม่อาจจะฟ้องใครก็ตามในคดี ม. ๑๑๒ ได้ต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการโดยตรงเท่านั้นจึงฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมื่นพระบรมเดชานุภาพ (le’ majeste’) ได้เท่านั้นและส่งให้พนักงานอัยการเป็นบุรุษไปรษณีส่งฟ้องตามกฎหมายอีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้ทันทีว่าคดีจะลดลง และถ้าให้สำนักราชเลขาธิการกราบบังคมทูลสำนวนการฟ้องก่อนผ่านให้สำนักอัยการ ซึ่งเชื่อว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหากทรงเห็นว่าควรพระราชทายอภัยโทษตามพระราชอัธยาศัย ก็จะยิ่งลดคดี ม. ๑๑๒ ลงได้อีกมาก สิ่งเหล่านี้หากปรากฎเป็นข่าวก็จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นที่ประจักษ์ไม่เพียงพสกนิกรไทยแต่พระบรมเดชานุภาพจะยิ่งแผ่ไพศาลไปในนานาอารยประเทศ

ไม่มีใครทราบว่าทุกวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสแค่ไหนที่มีการฟ้องคดีอันเนื่องมาจาก ม. ๑๑๒ ซึ่งไม่เพียงผู้ถูกฟ้องเท่านั้นที่เดือดร้อนและเป็นทุกข์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์น่าจะยิ่งทรงเป็นทุกข์มากกว่าใครทั้งสิ้นการแก้ปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรม เดชานุภาพ (le’ majeste’) ด้วยการทำหมัน ม. ๑๑๒ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดหากนายกรัฐมนตรีจะเริ่มต้นแก้ไขอย่างจริงจังด้วยการทำหมัน ม.๑๑๒ ดังกล่าวท่านจะแก้ปัญหา ม.๑๑๒ ได้โดยไม่ยากเลยด้วยการใช้เสียงพรรคเพื่อไทยในรัฐสภาจะออกเป็นพรฎ, พรก,หรือ พรบ. ก็ได้ทั้งสิ้น และถือโอกาสขอพระราชทานอภัยโทษผู้ถูกพิษ ม.๑๑๒ ทั้งหมดเสียเลย รับรองว่า ม.๑๑๒ จะจบลงอย่างสวยงามและจะเลื่องระบือลือไกลเป็นที่กล่าวขวัญและยกย่องถึงพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน ว่านายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถแก้ปัญหา ม.๑๑๒ ได้สำเร็จจริงๆ


วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้?


ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้?
เวทย์ เธียรธโนปจัย

ด้วยความเคารพศาล จะหมิ่นศาลพระภูมิก็ยังไม่กล้าคิด ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้ (ขอประทานโทษหากศาลทำอยู่แล้ว) ในเมื่อทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย พระเจ้าอยู่หัว อ.มานิตย์ จิตจันทน์กลับ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านก็เคยพิพากษาโทษประหารชีวิตมาแล้ว ท่านก็ยังเดินถนนได้ตามปกติเพราะท่านปฎิบัติงานด้วยความสุจริตไม่มีลับลมคมในไม่มีข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงอย่างไร ข้อสำคัญท่านตัดสินคดีตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตาชั่งที่ท่านถือจึงไม่เอียง จึงไม่ต้องคำนึงถึงสี ข้าง ฝ่าย พวก กลุ่ม หรือธงและหรือมือที่มองไม่เห็น ท่านจึงทำด้วยความสบายใจมั่นใจ คำพิพากษาที่มีความเห็นว่าต้องประหารชีวิตจำเลยจึงมีหตุมีผลมีพยานหลักฐานประกอบหนักแน่นทุกอย่างที่ต้องตัดสินโทษไปทางนั้นจะบิดเบี้ยวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยซึ่งจำเลยก็จำนนยอมรับคำพิพากษานั้นโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแม้สักนิด อ.มานิตย์จึงเดินตลาดเข้าห้างไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ต้องมีตำรวจคุ้มกันไม่มีรถกันกระสุนนั่ง แล้วท่านผู้พิพากษาคนทำงานศาลในปัจจุบัน ท่านแตกต่างกับผู้พิพากษาคนอื่นอย่างไร ท่านโฆษกศาลยุติธรรมคงไม่ต้องออกมาชี้แจงเหตุผลก็ได้เพราะ อ.มานิตย์ ท่านได้ตอบโจทย์ที่ประชาชนสงสัยและข้องใจจนหมดเปลือกได้อย่างครบถ้วนกระบวนความจนสิ้นกังขาทั้งหมดแล้ว

ที่เห็นได้ชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือ คนทำงานศาลกำลังเพลินกับการใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้า อยู่หัวแต่พระองค์เดียว ทั้งๆที่ไม่มีข้อกฎหมายใดกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จึงทำให้คดีความต่างๆรกศาลมากขึ้น ผู้ต้องหางงงวยยิ่งขึ้น คลางแคลงใจและไม่สบายใจมากขึ้นว่า ทำไมคนทำงานศาลต้องมาแย่งทำงานที่เป็นงานธุรการของเจ้าหน้าที่พนักงานในชั้นสอบสวนเสียเองให้ต้องถูกด่าทำไม ทั้งๆที่น่าจะไม่ใช่หน้าที่ของคนทำงานศาลจะต้องเสียเวลามาพิจารณาพิพากษาเรื่องอย่างที่ว่าให้เปลืองตัวเปลืองเวลาของพวกเขา  ตัวอย่างเช่น คนทำงานศาลน่าจะใช้เวลาไปพิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆที่เป็นเรื่องใหญ่มี ความละเอียดซับซ้อนซึ่งต้องใช้ทั้ง เวลาและความรู้ความสามารถ คนทำงานศาลไม่ควรและไม่จำเป็นต้องมาพิจารณาว่า ผู้ต้องหารายนี้รายโน้นไม่ควรให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาทุกคนยังไม่ใข่นักโทษและเป็นผู้บริสุทธิ์ทุกคน ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาโทษออกมาและรัฐธรรมนูญก็ให้การคุ้มครองกำหนดให้ผู้ต้องหาทุกคน จะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวทุกคนตั้งแต่ถูกจับจนถึงขั้นสอบสวนและทุกขั้นตอนในการอุทธรณ์และฎีกา  

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกัน การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พศ. ๒๕๔๙   มีข้อที่ควรสนใจดังนี้                                                                          

ข้อ ๑.  การเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้เจ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๑๐ วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม (เสียดายที่ไม่มีข้อมูลโดยเฉพาะอัตราวงเงินประกันขั้นต้นหรือมูลค่าหลักประกันในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา หากโฆษกศาลยุติธรรมมีตัวเลขดังกล่าวจะข่วยกรุณาประกาศให้ทราบทั่วกันจะขอบพระคุณยิ่ง) ทั้งนี้ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันเกินสามในสี่ของวงเงินประกันที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว                                                                                                                                         ข้อ ๒. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือการกำหนดให้หลักทรัพย์ใดเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๑๐ วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม                                                                                                                                             ข้อ ๓.  ให้ส่วนราชการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสังกัด ประกาศและเผยแพร่กฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติในการเรียกประกันหรือหลักประกัน ให้ผู้ที่มาติดต่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน                                                                             

ฉะนั้น พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ จะต้องมีหน้าที่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทุกคนทั้งหมด จะเบี้ยวหรือโยนภาระให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งการไม่ได้และศาลก็ไม่มีหน้าที่จะต้องรับ พิจารณาว่าให้หรือไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ยกเว้นการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ตามกฎกระทรวงเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดอยู่แล้ว ว่าผู้ต้องหาทุกคนต้องได้รับสิทธิให้ประกันตัว คดีที่จะรกศาลก็จะน้อยลงไปมาก ยิ่งไปกว่านี้จะทำให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบไม่ใช่เอะอะอะไรก็โยนให้ศาลหมด คนทำงานศาลจะได้ไม่เสียเวลามารับ Job งานธุรการในชั้นสอบสวนให้ถูกด่าด้วยทำไม  

สิ่งที่จะทำให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจจะมีกังวลคือกลัวผู้ต้องหาจะหลบหนีจริงๆแล้วไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอ้างอย่างนั้น กฎกระทรวงได้เปิดโอกาสให้ใช้บุคคลเป็นประกันหรือกำหนดให้ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันแทนอยู่แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการน่าจะใช้ความสามารถเรียกเอาบุคคลหรือหลักทรัพย์เป็นประกันได้อยู่แล้วสิ่งที่ผู้ต้องหาต่างหากควรจะเป็นกังวลมากกว่าเมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะการจะหาบุคคลหรือหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แต่เพื่อให้ตนเองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อหาทางต่อสู้คดีผู้ต้องหาก็ต้องจำทนหาหลักประกันมาให้แม้จะยากลำบากอย่างไร แค่คิดขวนขวายหาหลักประกันก็ยุ่งยากเต็มประดาที่จะคิดหลบหนียิ่งยากใหญ่ คนที่ไม่เคยติดคุกลองเข้าคุกไปเยี่ยมพวกเขาดูก็จะรู้สึกว่า ผู้ต้องโทษนั้นต้องการคิดคุกใช้หนี้กรรมให้หมดไวๆ มากกว่าจะคิดหนี

จึงอยากเรียนคนทำงานศาลได้ช่วยกรุณาลดคดีที่กำลังรกศาลให้น้อยลง ท่านก็จะได้เหนื่อยน้อยลง แล้วยังจะช่วยให้คุกว่างขึ้นให้คนคุกที่จำเป็นต้องนอนคุกได้มีที่หายใจอย่างอิสระเสรีด้วยเถิด