วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โลกใบนี้ยกให้เธอคนเดียว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ ม. ๑๑๒ ง่ายๆ


โลกใบนี้ยกให้เธอคนเดียว
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ ม. ๑๑๒ ง่ายๆ
เวทย์ เธียรธโนปจัย

มีการพูดถึงประมวลกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ กันมากมายหลายแง่มุม ส่วนใหญ่จริงๆอยากให้แก้ ม. ๑๑๒ ด้วยการตัดทิ้งทั้งมาตรา แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยอยู่ไม่น้อย ทำให้ต้องมานึกหาเหตุผลดูกับเขามั่ง แล้วก็ได้ความจริงอบ่างหนึ่งที่อยากเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ช่วยฟังประเด็นนี้บ้างเพราะยังไม่มีใครคิดถึงกันมาก่อนว่า กฎหมายนั้นเขามีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนกระทำความผิด ไม่ใช่มีไว้ใช้จับกุมคุมขังคนหรือเอาคนเข้าคุก ดังนั้นที่ประชาชนทั้งไทยและเทศต้องถูก  ม.๑๑๒ พ่นพิษใส่อยู่ในเวลานี้ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่ง ไปแก้ไขเพิ่มโทษ ม ๑๑๒ ให้หนักขึ้นจากโทษจำคุก ๓ ปี ถึง ๕๐ ปี โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ พศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๑ ซึ่งไม่ทราบว่าคณะที่ว่ายังอยู่ในอำนาจหรือปิดวิกไปแล้ว รู้แต่ว่าคนที่เป็นหัวหน้าซึ่งก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กย.๒๕๔๙ ยังมีตัวตนอยู่เวลานี้ใครอยากพบก็พบได้เพราะเขานั่งอยู่ที่รัฐสภาเป็นประจำเมื่อสภาเปิด ประชาชนอาจจะหัวเราะหรือขำคลิ้งก็ได้ด้วยท่านบังหรือพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ได้กำลังทำหน้าที่เป็น ปธ.กมธ. ของรัฐสภาชุดไหนจำชื่อไม่ได้รู้แต่ว่าท่านกำลังทำหน้าที่สมานแผลหรือเรียกว่าอาสาปรองดอง ดูแล้วก็อดสงสารท่านไม่ได้ ที่ท่านต้องถูกโดดเดี่ยวในสิ่งที่ท่านได้ทำกับคนไทยและประเทศชาติอย่างสาหัสสากรรจ์จนยากที่ใครจะให้อภัยได้  เมื่อกงเกวียนกำเกวียนเกิดจากสิ่งที่ท่านก่อทำให้มีหนี้กรรมที่ต้องชำระต่อแผ่นดินหรือคนไทยอยู่จำนวนไม่น้อย

กลับไปต่อเรื่องที่ค้างไว้ข้างต้น เมื่อมีคนแก้ไข ม.๑๑๒ ด้วยการเพิ่มโทษอย่างร้ายแรงมากและรุนแรงหลายเท่าจึงมีคนพวกหนึ่งใช้ประโยชน์จาก ม. ๑๑๒ ในการกล่าวโทษฟ้องร้องคนอื่นที่คิดต่างจากตน โดยอ้างความจงรักภักดีและประนามคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี จึงมีการกล่าวหาผู้อื่นว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมากมาย  ม.๑๑๒ จึงกลับฟื้นคืนชีพ เพราะใครๆก็รู้ว่าคนไทยนั้นทุกคนมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์อย่างแนบแน่นมาช้านาน ที่จะคิดไปในทางที่ไม่สมควรต่างๆนาๆแทบจะเป็นไปไม่ได้ คดีความที่เกิดจาก ม. ๑๑๒ จึงแทบไม่ปรากฎจะบอกว่าถูกคนเขาลืมเสียสิ้นก็ไม่ผิดและแทบไม่ต้องแตะหรือพูดถึงมาตรานี้กันเลย ตั้งแต่มีกฎหมายนี้ขึ้นมาหลายสิบปี  จึงไม่มีใครคิดที่จะต้องไปยกเลิก ม.๑๑๒ หากเปรียบกฎหมายนี้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งเมื่อไม่ได้ถูกใช้นานๆเข้าก็จะเสียไม่สามารถทำงานได้จะซ่อมหรือคงไว้ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด การจะแก้ไขปัญหา ม. ๑๑๒ ด้วยการยกเลิกหรือคงไว้ก็เช่นกัน ทำไมไม่เกาตรงที่มันคันแล้วจึงแก้ตรงนั้น

ประเด็นปัญหาที่น่าจะคิดกันมันจึงอยู่ที่ว่า เมื่อแก้ไขโทษ ม. ๑๑๒ ให้สูงขึ้นคดีความ ม. ๑๑๒ จึงน่าจะต้องลดลงไม่ใช่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วเพราะมีคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าตำรวจทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆอาศัย ม. ๑๑๒ กลั่นแกล้งคนอื่นที่ตนไม่ชอบหน้า หรือมีความคิดไม่ตรงกัน ถ้าจะควบคุมปริมาณไม่ให้คดี ม. ๑๑๒ เพิ่มขึ้นหรือให้น้อยลง ทำไมไม่พิจารณาทำหมัน ม. ๑๑๒ เสียเลย โดยห้ามบุคคลอื่นนอกจากสำนักราชเลขาธิการเท่านั้นที่จะเป็นคนกลั่นกรองฟ้องคดี ม. ๑๑๒ ได้เพียงผู้เดียว ใครก็ตามไม่อาจจะฟ้องใครก็ตามในคดี ม. ๑๑๒ ได้ต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการโดยตรงเท่านั้นจึงฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมื่นพระบรมเดชานุภาพ (le’ majeste’) ได้เท่านั้นและส่งให้พนักงานอัยการเป็นบุรุษไปรษณีส่งฟ้องตามกฎหมายอีกต่อหนึ่ง จะเห็นได้ทันทีว่าคดีจะลดลง และถ้าให้สำนักราชเลขาธิการกราบบังคมทูลสำนวนการฟ้องก่อนผ่านให้สำนักอัยการ ซึ่งเชื่อว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหากทรงเห็นว่าควรพระราชทายอภัยโทษตามพระราชอัธยาศัย ก็จะยิ่งลดคดี ม. ๑๑๒ ลงได้อีกมาก สิ่งเหล่านี้หากปรากฎเป็นข่าวก็จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณและเป็นที่ประจักษ์ไม่เพียงพสกนิกรไทยแต่พระบรมเดชานุภาพจะยิ่งแผ่ไพศาลไปในนานาอารยประเทศ

ไม่มีใครทราบว่าทุกวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสแค่ไหนที่มีการฟ้องคดีอันเนื่องมาจาก ม. ๑๑๒ ซึ่งไม่เพียงผู้ถูกฟ้องเท่านั้นที่เดือดร้อนและเป็นทุกข์พระเจ้าอยู่หัวพระองค์น่าจะยิ่งทรงเป็นทุกข์มากกว่าใครทั้งสิ้นการแก้ปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรม เดชานุภาพ (le’ majeste’) ด้วยการทำหมัน ม. ๑๑๒ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดหากนายกรัฐมนตรีจะเริ่มต้นแก้ไขอย่างจริงจังด้วยการทำหมัน ม.๑๑๒ ดังกล่าวท่านจะแก้ปัญหา ม.๑๑๒ ได้โดยไม่ยากเลยด้วยการใช้เสียงพรรคเพื่อไทยในรัฐสภาจะออกเป็นพรฎ, พรก,หรือ พรบ. ก็ได้ทั้งสิ้น และถือโอกาสขอพระราชทานอภัยโทษผู้ถูกพิษ ม.๑๑๒ ทั้งหมดเสียเลย รับรองว่า ม.๑๑๒ จะจบลงอย่างสวยงามและจะเลื่องระบือลือไกลเป็นที่กล่าวขวัญและยกย่องถึงพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน ว่านายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถแก้ปัญหา ม.๑๑๒ ได้สำเร็จจริงๆ


วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้?


ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้?
เวทย์ เธียรธโนปจัย

ด้วยความเคารพศาล จะหมิ่นศาลพระภูมิก็ยังไม่กล้าคิด ทำไมจะเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาที่ขึ้นบัลลังก์ไม่ได้ (ขอประทานโทษหากศาลทำอยู่แล้ว) ในเมื่อทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย พระเจ้าอยู่หัว อ.มานิตย์ จิตจันทน์กลับ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านก็เคยพิพากษาโทษประหารชีวิตมาแล้ว ท่านก็ยังเดินถนนได้ตามปกติเพราะท่านปฎิบัติงานด้วยความสุจริตไม่มีลับลมคมในไม่มีข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงอย่างไร ข้อสำคัญท่านตัดสินคดีตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตาชั่งที่ท่านถือจึงไม่เอียง จึงไม่ต้องคำนึงถึงสี ข้าง ฝ่าย พวก กลุ่ม หรือธงและหรือมือที่มองไม่เห็น ท่านจึงทำด้วยความสบายใจมั่นใจ คำพิพากษาที่มีความเห็นว่าต้องประหารชีวิตจำเลยจึงมีหตุมีผลมีพยานหลักฐานประกอบหนักแน่นทุกอย่างที่ต้องตัดสินโทษไปทางนั้นจะบิดเบี้ยวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยซึ่งจำเลยก็จำนนยอมรับคำพิพากษานั้นโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแม้สักนิด อ.มานิตย์จึงเดินตลาดเข้าห้างไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ต้องมีตำรวจคุ้มกันไม่มีรถกันกระสุนนั่ง แล้วท่านผู้พิพากษาคนทำงานศาลในปัจจุบัน ท่านแตกต่างกับผู้พิพากษาคนอื่นอย่างไร ท่านโฆษกศาลยุติธรรมคงไม่ต้องออกมาชี้แจงเหตุผลก็ได้เพราะ อ.มานิตย์ ท่านได้ตอบโจทย์ที่ประชาชนสงสัยและข้องใจจนหมดเปลือกได้อย่างครบถ้วนกระบวนความจนสิ้นกังขาทั้งหมดแล้ว

ที่เห็นได้ชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือ คนทำงานศาลกำลังเพลินกับการใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นพระราชอำนาจของพระเจ้า อยู่หัวแต่พระองค์เดียว ทั้งๆที่ไม่มีข้อกฎหมายใดกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จึงทำให้คดีความต่างๆรกศาลมากขึ้น ผู้ต้องหางงงวยยิ่งขึ้น คลางแคลงใจและไม่สบายใจมากขึ้นว่า ทำไมคนทำงานศาลต้องมาแย่งทำงานที่เป็นงานธุรการของเจ้าหน้าที่พนักงานในชั้นสอบสวนเสียเองให้ต้องถูกด่าทำไม ทั้งๆที่น่าจะไม่ใช่หน้าที่ของคนทำงานศาลจะต้องเสียเวลามาพิจารณาพิพากษาเรื่องอย่างที่ว่าให้เปลืองตัวเปลืองเวลาของพวกเขา  ตัวอย่างเช่น คนทำงานศาลน่าจะใช้เวลาไปพิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆที่เป็นเรื่องใหญ่มี ความละเอียดซับซ้อนซึ่งต้องใช้ทั้ง เวลาและความรู้ความสามารถ คนทำงานศาลไม่ควรและไม่จำเป็นต้องมาพิจารณาว่า ผู้ต้องหารายนี้รายโน้นไม่ควรให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาทุกคนยังไม่ใข่นักโทษและเป็นผู้บริสุทธิ์ทุกคน ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาโทษออกมาและรัฐธรรมนูญก็ให้การคุ้มครองกำหนดให้ผู้ต้องหาทุกคน จะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวทุกคนตั้งแต่ถูกจับจนถึงขั้นสอบสวนและทุกขั้นตอนในการอุทธรณ์และฎีกา  

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกัน การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พศ. ๒๕๔๙   มีข้อที่ควรสนใจดังนี้                                                                          

ข้อ ๑.  การเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้เจ้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๑๐ วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม (เสียดายที่ไม่มีข้อมูลโดยเฉพาะอัตราวงเงินประกันขั้นต้นหรือมูลค่าหลักประกันในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา หากโฆษกศาลยุติธรรมมีตัวเลขดังกล่าวจะข่วยกรุณาประกาศให้ทราบทั่วกันจะขอบพระคุณยิ่ง) ทั้งนี้ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันเกินสามในสี่ของวงเงินประกันที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว                                                                                                                                         ข้อ ๒. การใช้บุคคลเป็นประกันหรือการกำหนดให้หลักทรัพย์ใดเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา ๑๑๐ วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม                                                                                                                                             ข้อ ๓.  ให้ส่วนราชการที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสังกัด ประกาศและเผยแพร่กฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติในการเรียกประกันหรือหลักประกัน ให้ผู้ที่มาติดต่อและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน                                                                             

ฉะนั้น พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ จะต้องมีหน้าที่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทุกคนทั้งหมด จะเบี้ยวหรือโยนภาระให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งการไม่ได้และศาลก็ไม่มีหน้าที่จะต้องรับ พิจารณาว่าให้หรือไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ยกเว้นการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ตามกฎกระทรวงเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดอยู่แล้ว ว่าผู้ต้องหาทุกคนต้องได้รับสิทธิให้ประกันตัว คดีที่จะรกศาลก็จะน้อยลงไปมาก ยิ่งไปกว่านี้จะทำให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบไม่ใช่เอะอะอะไรก็โยนให้ศาลหมด คนทำงานศาลจะได้ไม่เสียเวลามารับ Job งานธุรการในชั้นสอบสวนให้ถูกด่าด้วยทำไม  

สิ่งที่จะทำให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจจะมีกังวลคือกลัวผู้ต้องหาจะหลบหนีจริงๆแล้วไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอ้างอย่างนั้น กฎกระทรวงได้เปิดโอกาสให้ใช้บุคคลเป็นประกันหรือกำหนดให้ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันแทนอยู่แล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการน่าจะใช้ความสามารถเรียกเอาบุคคลหรือหลักทรัพย์เป็นประกันได้อยู่แล้วสิ่งที่ผู้ต้องหาต่างหากควรจะเป็นกังวลมากกว่าเมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะการจะหาบุคคลหรือหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แต่เพื่อให้ตนเองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อหาทางต่อสู้คดีผู้ต้องหาก็ต้องจำทนหาหลักประกันมาให้แม้จะยากลำบากอย่างไร แค่คิดขวนขวายหาหลักประกันก็ยุ่งยากเต็มประดาที่จะคิดหลบหนียิ่งยากใหญ่ คนที่ไม่เคยติดคุกลองเข้าคุกไปเยี่ยมพวกเขาดูก็จะรู้สึกว่า ผู้ต้องโทษนั้นต้องการคิดคุกใช้หนี้กรรมให้หมดไวๆ มากกว่าจะคิดหนี

จึงอยากเรียนคนทำงานศาลได้ช่วยกรุณาลดคดีที่กำลังรกศาลให้น้อยลง ท่านก็จะได้เหนื่อยน้อยลง แล้วยังจะช่วยให้คุกว่างขึ้นให้คนคุกที่จำเป็นต้องนอนคุกได้มีที่หายใจอย่างอิสระเสรีด้วยเถิด

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตาชั่งเอียง?

     ตาชั่งเอียง?                                                                                                                        เวทย์ เธียรธโนปจัย*

ร. ๕ ทรงปลดปล่อยทาสให้คนไทยได้เป็นอิสระเพราะทรงเห็นว่า คนไทยไม่ควรจะต้องตกอยู่ในอำนาจของใครที่เป็นมนุษย์ด้วยกันจะเป็นเจ้าของชีวิตคนเป็นๆของคนอื่นได้อย่างไร นั่นคือความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่ พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำริในพระราชหฤทัยจึงทรงพยายามปลดปล่อยทาสแม้จะต้องทรงลำบากต่อสู้กับไดโนเสาร์แค่ไหนก็ทรงไม่ลดละและทรงปลดปล่อยทาสได้สำเร็จจนหมดสิ้น  แต่แปลกที่ทุกวันนี้เราคงยังเห็นทาสหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะในคนบางกลุ่มซึ่งเป็นคนมีความรู้มีความคิดสติปัญญาสูงส่งเสียด้วย  นั่น คือ คนทำงานศาลที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการชั้นสูงสุดของประเทศ  ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทุกครั้งที่คนทำงานศาลจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานโอวาทเป็นกรณีพิเศษ  และสิ่งที่มักจะทรงย้ำอยู่เสมอก็คือการให้คนทำงานศาลปฏิบัติหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีความยุติธรรม เป็นกลางและเป็นตาชั่งที่ตรงไปตรงมาอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมอบความหวังให้ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
นี่คิอที่มาของทาสในโรงศาล เพราะยังมีคนทำงานในศาลจำนวนไม่น้อยที่ยังคงละเลยต่อคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว หลายคนกลัวอำนาจมืดหรือมือที่มองไม่เห็นยิ่งกว่าจะกลัวเกรงพระราชอำนาจที่ทรงใช้ผ่านรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว จึงได้เห็นคำพิพากษาตัดสินคดีที่ขัดสายตาผู้คน รวมทั้งวิถีปฏิบัติที่เป็น ๒ มาตรฐานต่างกรรมต่างวาระเพราะประชาชนเดี๋ยวนี้ ฉลาดขึ้นมาก รู้กฎหมายกันมากขึ้น รู้จักและสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นคนเสื้อแดงเกือบจะทุกคนอย่างตาสียายมาในต่างจังหวัด เขาเข้าใจ คำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามวิธีพิจารณาความอาญาที่แสดงให้เห็นชัดเจนในแนวทางที่กฎหมายกำหนดให้เป็นพื้นฐานไว้มากขึ้น  รวมทั้งสิ่งที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกละเลยใช้มาตรฐานที่พวกเขารู้สึกเสมือนว่า ถูกกลั่นแกล้งไม่เป็นธรรมจึงเกิดความเดือดร้อนคลางแคลงใจ กังขาและไม่สบายใจมากขึ้นว่า ทำไมคนทำงานศาลจึงเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะ ที่ไม่ควรจะเป็น มากขึ้นทำไมเขาไม่มีพัฒนาการซึ่งน่าจะมีมากกว่าคนอื่นหลายเท่า เหตุนี้แหละทำให้เกิดการร้องเรียน ร้องทุกข์และนำมาซึ่งข้อครหานินทาว่า ตาชั่งเอียง
มีนักวิชาการ**ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเฉพาะโดยจบปริญญาเอกด้านอาชญวิทยา และได้รับประกาศนียบัตรในวิชาการจัดการกับผู้ประสบเคราะห์กรรมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียในนครเฟรสโน สหรัฐอเมริกา(Criminology-Law Enforcement & Certificate in Victims Services, CSUF)ได้ศึกษาวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นต่อหลายกรณีในการทำงานของคนทำงานศาลด้วยความเคารพศาลอย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาที่จะหมิ่นศาล แต่อยากเผยความรู้สึกความในใจของเธอเพื่อให้คนทำงานศาลได้พิจารณาความเห็นแย้งที่มีต่อการทำงานของศาลอย่างตรงไปตรงมาว่า มีประเด็นบางประเด็นที่อยากขอความกรุณาให้คนทำงานศาลได้เข้าใจว่า ยังไม่เคยมีปรากฏอยู่ในสารบบของศาลไทยแต่อย่างไรเลย จึงอยากขอความกรุณาคนทำงานศาลได้โปรดช่วยพิจารณาประเด็นที่จะกล่าวต่อไป และหากจะช่วยบรรจุไว้ใน สารบบของศาลไทยเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้มีประเด็นใหม่ๆที่สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของประชาชนและสิ่งแวดล้อมใหม่ในสังคมที่เปลี่ยนไปมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้มีกรณีศึกษาและประเด็นที่จะใช้เป็นแนวทางในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามแต่ศาลจะพิจารณาและเห็นสมควร เพื่อที่ประชาชนจะได้อาศัยพึ่งพาความยุติธรรมที่หลากหลายจากศาลเพิ่มมากขึ้น
นักวิชาการได้เสนอความเห็นในการวิเคราะห์ประเด็นข้อกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจอย่างที่ รศ. สุดสงวน สุธีสร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  “อย่าลืมว่าขณะนี้สิ่งที่ศาลมองศาลเขาใช้วิธีการพิจารณาจากประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของผู้ก่อการร้าย เป็นองค์ประกอบของการเป็นผู้ก่อการร้ายที่ว่า  การวางเพลิงสถานที่ราชการเข้าองค์ประกอบนั้น ซึ่งเราได้โต้แย้งมาตลอดและเราได้พยายามเสนอไอเดียว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอาชญากรรม หรือเป็นอาชญากรทางการเมือง ซึ่งคำเหล่านี้ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสารบบของศาลไทย คนทำงานศาลไทย จึงไม่รู้ไม่เคยรู้ว่ามีคำแบบนี้อยู่ทำให้ไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วคนเหล่านี้เขาไม่ใช่โจรไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่อาชญากร แต่ที่เขาทำไปนั้นเขามีความกดดันอย่างมหาศาลเพราะพี่น้องของเขากำลังถูกฆ่าอยู่ในกรุงเทพฯทำให้เขาต้องมีการปฏิบัติการอย่างอื่นออกมาซึ่งถ้าเรามองจริงๆเจตจำนงค์ที่จะไปทำอะไรให้เป็นคดีขึ้นมามันไม่ใช่เจตจำนงค์อันแท้จริงไม่ใช่เกิดจากว่า เป็นคนเลวสุดๆเดี๋ยวจะต้องไปเผาที่นั่นต้องไปวางแผนเผาที่นี่มันไม่ใช่ เพราะพวกเขาไม่ใช่อาชญากรโดยกำเนิด (Killing by Nature)มันเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองเพราะมีรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องและใช้อำนาจโดยมิชอบมาจัดการกับประชาชน” ต่างหาก
ความเป็นจริงนั้น กฎหมายมีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะเหนี่ยวนำบังคับให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบผาสุกร่มเย็น กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้สำหรับเข่นฆ่าปราบปรามประชาชน หรือใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพื่อบีบบังคับคนในสังคม แต่สิ่งที่ปรากฏในสังคมปัจจุบันกลับเป็นตรงกันข้าม มีความตั้งใจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขังด้วยความตั้งใจที่จะลิดรอนอิสรภาพกักขังบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม ด้วยการกลั่นแกล้ง โดยใช้อำนาจที่มีอยู่ ในมือ ผลจึงปรากฏว่า เพียงประเด็นของคนเสื้อแดงได้ถูกจับในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายและผิดพรก.ฉุกเฉินมากกว่า ๔๐๐ รายทั้งๆที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความสงบปราศจากอาวุธตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง คนทำงานศาลกลับไม่พยายามเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทั้งของประชาชนและสังคมที่เกิดขึ้นและก้าวหน้าไปไกลไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประเทศไทยแต่เป็นความศิวิไลซ์ของโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา จนยากที่คนอยู่เฉยๆ จะตามได้ทันนอกจากจะต้องถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง
ผลจากการใช้กฎหมายด้วยวัตถุประสงค์ในการจับกุมคุมขัง ทำให้เสื้อแดงถูกจับจำนวนมากสูงถึงกว่า ๔๐๐ คนดังกล่าวแล้วแม้บางส่วนจะได้รับให้ประกันตัวได้ แต่ในปัจจุบันยังมีเสื้อแดงต้องถูกจองจำอยู่ถึง ๗๑ คน และหลายคนกำลังป่วยหนักด้วยโรคประจำตัวและโรคแทรกซ้อนทั้งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด แม้ทนายความของคนเสื้อแดงจะพยายามยื่นขอประกันตัว ส่วนใหญ่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นคดีร้ายแรงซึ่งมีโทษสูงทั้งๆที่ศาลได้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มมากขึ้นบางรายสูงถึง ๑ ล้านบาทรวมทั้งได้รับความร่วมมือจาก สส.พรรคเพื่อไทยช่วยเป็นผู้ประกันผู้ต้องหาด้วย ศาลก็ยังไม่ให้ประกันและคงอ้างเหตุผลเดิมๆว่ากลัวหนีทั้งๆที่บางรายป่วยหนักอยู่
ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ คนทำงานศาลซึ่งรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดกลับไม่รู้จักมหาบุรุษที่ทรงความรอบรู้ทันสมัยที่สุดของตน มิฉะนั้นแล้วศาลก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจและทำให้ทรงโสมนัสที่ศาลจะเป็นที่พึ่งสำคัญสุดท้ายของประชาชนและเป็นตาชั่งที่ไม่เอียงได้สะอาดหมดจดและเป็นศาลสถิตยุติธรรมโดยแท้
บรรณานุกรม :
**Sudsanguan Suthisorn :
LL.B Thammasat University
M.S Criminology-Law Enforcement, California State university-Fresno
Certificate in Victims Services, CSUF
 *Wett Tientanopajai :                                                  B.A.(Communication Arts) Chulalongkorn University                                M.A. (Demography) College of  Population Studies, CU.